ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
---|
มาตรา ๑๗๒๖ ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2558 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2) บทความที่น่าสนใจ-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคนคนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร -สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก -เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่ |